วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 และอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยรักษาหาย 8,029 ราย ติดเชื้อใหม่ 7,982 ราย เสียชีวิต 68 ราย แนวโน้มผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจลดลง ภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มลดลง
แต่ทั้งนี้ยังต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด 6 จังหวัดที่ยังมีแนวโน้มสูง ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ตาก ระยอง จันทบุรี และขอนแก่น ซึ่งวันนี้มีสัดส่วนการติดเชื้อ 22% โดยขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลังค้นหาคลัสเตอร์และปัจจัยเสี่ยง รวมถึงเพิ่มเติมวัคซีนลงไปในพื้นที่ พร้อมขอให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนเพื่อที่จะลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
สำหรับคลัสเตอร์ที่ยังพบรายงานวันนี้ ได้แก่
เรือนจำ
กทม. 44 ราย
เชียงใหม่ 16 ราย
สถานบันเทิง
กทม. 12 ราย
สถานศึกษา
ฉะเชิงเทรา 2 ราย
โรงแรม
กทม. 20 ราย
แคมป์ก่อสร้าง/ล้งผลไม้
จันทบุรี 4 ราย
บริษัท
เชียงใหม่ 6 ราย
กทม. 4 ราย
ค่ายทหาร
ชลบุรี 3 ราย
ตลาด
เชียงใหม่ 61 ราย
นอกจากนี้ยังมีรายงานพบผู้ลักลอบเข้าประเทศจากกัมพูชาติดเชื้อโควิด 7 ราย ถือว่าน่ากังวลในช่วงการเปิดประเทศ จึงขอให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องและขอให้เจ้าของกิจการใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย พาคนงานต่างด้าวไปฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ซึ่งได้ชี้แจงทุกจุดฉีดวัคซีนแล้วให้จัดบริการฉีดวัคซีนกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วย และสิ่งสำคัญคือ ยังต้องย้ำมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด ตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง กิจการใช้มาตรการ COVID Free Setting จะเปิดประเทศได้อย่างราบรื่น
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 3 พฤศจิกายน ฉีดได้ 817,382 โดส ยอดสะสม 77,831,474 โดส โดยเข็ม 1 ครอบคลุม 59.8% เข็ม 2 ครอบคลุม 44.7% และเข็ม 3 ครอบคลุม 3.5% สำหรับจังหวัดที่มีความครอบคลุมน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครพนม หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ฉีดเข็ม 1 ประมาณ 36-43% ขณะที่กลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 56.3% พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 17 จังหวัด ฉีดแล้ว 80.5% โดยจังหวัดที่ฉีดได้มากกว่า 70% คือ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสลับชนิดและกระตุ้นเข็ม 3 ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พบว่ามีจำนวนน้อยมาก โดยสูตรซิโนแวค (Sinovac) ตามด้วยแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ฉีดมากกว่าล้านโดส พบเข้าโรงพยาบาล 955 ราย ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซเนกา พบ 163 ราย และกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ พบ 48 ราย ส่วนใหญ่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และแน่นหน้าอก สามารถรักษาหายได้ ขณะที่รายงานผู้เสียชีวิตนั้น จากการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญพบว่าส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน มีผู้เดินทางจากต่างประเทศ 2,614 ราย แบ่งเป็น ระบบ Test & Go หรือกลุ่มประเทศที่ไม่ต้องกักตัว เมื่อผลตรวจ RT-PCR เป็นลบเดินทางต่อได้ทันที 2,283 ราย ระบบแซนด์บ็อกซ์ 101 ราย และระบบกักตัวตามปกติ 230 ราย มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย จากระบบ Test & Go 1 ราย และระบบกักตัว 3 ราย รวม 3 วันที่ผ่านมา (1-3 พฤศจิกายน) พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย แสดงว่าระบบของเราตรวจจับได้แม้ก่อนเดินทางมาจะตรวจ RT-PCR ไม่พบ แต่เป็นการพบในอัตราต่ำมาก ถือว่ามีความปลอดภัยในการรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามาก คือ สหรัฐอเมริกา 196 ราย, ญี่ปุ่น 339 ราย, เยอรมนี 142 ราย, อังกฤษ 105 ราย และเกาหลีใต้ 64 ราย ส่วนจังหวัดปลายทางที่นักท่องเที่ยวไปมากที่สุด คือ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี และสุราษฎร์ธานี.