เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) บรรยายหัวข้อพิเศษ ‘ทิศทางการแพทย์และสาธารณสุขประเทศไทย’ ในงานมหกรรม 80 ปีกรมการแพทย์ : ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต ว่า เป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำมานานกว่า 7 ปี คือ ประชาชนต้องสุขภาพดีและบุคลากรต้องมีความสุข เพื่อให้ระบบสุขภาพยั่งยืน เมื่อการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมากว่า 2 ปี กรมการแพทย์มองถึงว่าเราจะหาประโยชน์อย่างไรจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมซึ่งมีแง่เศรษฐกิจที่ต่างกัน ดังนั้นเราต้องทำให้ช่องว่างในแง่สุขภาพลดลง ซึ่งโจทย์สำคัญคือ การให้ทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพที่จำเป็นได้ ตัวอย่างเรื่องการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐ ที่เมื่อก่อนประชาชนต้องเอารองเท้ามาจองคิวไว้ ตอนนี้ก็ไม่เกิดขึ้นแล้วใน รพ.สังกัดกรมการแพทย์ เราจึงมาดูต่อในแผนกผู้ป่วยนอก(OPD) เราจะทำอย่างไรให้เข้าใกล้กับการบริการของเอกชน เช่น คิวไม่แน่น รอไม่นาน ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลการแพทย์ทางไกล เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนพื้นที่ทุรกันดาร
“กรมการแพทย์ได้นำวิสัยทัศน์ของกระทรวงฯ มาเป็นเป้าหมายของกรมฯ เพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพประชาชนให้เป็น 1 ใน 3 ของเอเชียโดยยึดยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศในปี 2580 ตอนนี้เราอยู่อันดับที่ 7 รองจาก สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันและจีน” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่เราพยายามปรับมาในช่วงโควิดเป็นการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขให้มาถึงการแพทย์วิถีใหม่(New Normal Medical Services) หัวใจสำคัญคือ การเอาบริการสุขภาพออกนอก รพ. ให้เป็นการบริการอย่างเหมาะสมกับแต่ละคน(Personal based Medical Services) ไปจนถึงการยกระดับให้เป็นการรับบริการได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านการใช้เทคโนโลยีในอนาคต
ฉะนั้น เราต้องวางแผนระบบใหม่(Re-Design) ดูความต้องการของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรค NCDs ที่ต้องเจาะเลือด ก็ต้องปรับให้มีการเจาะเลือดนอก รพ. ส่งผลเลือดออนไลน์เพื่อพบแพทย์ทางไกล(Telemedicine) ซึ่งทาง รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตน์ และ รพ.เลิดสิน ได้ลองทำแล้วพบว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้น กรมการแพทย์ ต้องหารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เข้ามาช่วยเรื่องการเงิน
“เรียนตรงๆ ว่าระบบราชการไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งกรมการแพทย์จะเป็นแพลตฟอร์ม แล้วนำบุคลากรมาเสียบปลั๊ก ภายใต้หลักการ 3 อย่างคือ 1.บุคลากรและผู้ป่วยปลอดภัย 2.ผู้ป่วยได้ประโยชน์ และ 3.ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยหาจุดเหมาะสมกับเอกชน โดยถือประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า หากเราต้องการ Smart Hospital ต้องยึดหลักคือ Smart Safety Space แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชนในการเข้ารับบริการให้ตรงช่วงเวลานัดเพื่อลดการรอคอย เพราะตอนนี้ทาง รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตน์ และรพ.เลิดสิน ปรับการนัดผู้ป่วยเป็นช่วงเวลาย่อย ซึ่งยืนยันว่าหากผู้ป่วยมาก่อนเวลานัดเพียงไม่นาน ทุกท่านจะได้รับบริการตามเวลานัด
ขณะที่ การพัฒนา Digital Technology ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของ รพ.เพื่อลงทะเบียนผู้ป่วยออนไลน์ เป็นสิ่งที่เราทำมาแล้ว และเห็นสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป ส่วนระบบปรึกษาทางไกล(Tele-Health) ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการเอาบุคลากรแพทย์ไปหาผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคผิวหนังยากๆ ไปหาหมอที่ รพ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู แพทย์สามารถปรึกษากันผ่านระบบทางไกลมาที่สถาบันโรคผิวหนังได้ นี่จึงเป็นกระบวนการที่เรานำมาประยุกต์ให้เป็นนโยบายการแพทย์ทุกที่ทุกเวลา
อย่างไรก็ตาม นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การใช้ระบบบริการสุขภาพทางไกล มีการใช้มานานแล้วเพียงแต่ต้องมาต่อจิ๊กซอว์กัน อาทิความร่วมมือจากเอกชน 5G Cloud Services เพื่อปรับใช้กับภาครัฐ การผ่าตัดแบบ Tele-Surgery รถ Mobile Stroke Unit ที่มีวิ่งเกือบ 10 คันเพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จ่ายยาละลายลิ่มเลือดได้ ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับดีไซน์กระบวนรักษาก่อน แล้วนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
ส่วนเรื่องที่กรมการแพทย์ดูแลประวัติผู้ป่วย ก็มีการใช้ DMS Telemedicine ช่วยเก็บประวัติผู้ป่วยไว้ เพื่อให้ดูรายละเอียดโรค การรับประทานยา ข้อควรต้องระวัง ซึ่งญาติก็จะได้ช่วยดูแลสุขภาพของผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการให้บริการนอก รพ. ทั้งนี้ ระบบสาธารณสุขในอนาคต จะต้องมี 4 หลักคือ 1.การแพทย์แม่นยำ ให้บริการสุขภาพระดับ DNA 2.พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ 3.กระจายการดูแลสุขภาพ ให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และ 4.การใช้เทคโนโลยี
“เมื่อก่อนปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ตอนนี้ปลาเร็วกินปลาช้า อาจจะเป็นปลาเล็กๆ ที่เป็นจิ๊กซอว์มาต่อกัน กรมการแพทย์ขอเป็นตัวเชื่อมต่อทุกแพลตฟอร์มเพื่อต่อจิ๊กซอว์นี้ เป็นความร่วมมือของรัฐ เอกชนและประชาสังคม เพื่อให้เราดูแลสุขภาพประชาชนที่จำเป็นได้ โดยยึดหลักทำดีที่สุด เพื่อทุกชีวิต” นพ.สมศักดิ์กล่าว
น.ท.ญ.พญ.อรวรรณ กิจเชวงกุล อายุรแพทย์คลินิกเวชกรรมเอกชน กล่าวว่า ตนได้รับข้อมูลการจัดงานนี้จากไลน์ และข้อมูลของกลุ่มแพทย์ด้วยกัน ทำให้สนใจเรื่องการประชุมวิชาการ แต่เมื่อมาถึงงานก็เห็นว่ามีบูธตรวจสุขภาพให้ประชาชนได้ฟรีด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะสิ่งสำคัญคือ ทุกคนควรได้เช็กอัพตัวเองก่อนที่จะเกิดโรค ฉะนั้น การจัดมหกรรมสุขภาพต่างๆ ก็จะเป็นการเพิ่มความรู้ให้ประชาชน ให้ได้พูดคุยกับผู้รู้โดยตรง
เมื่อถามว่าปัญหาสุขภาพของคนไทยตอนนี้คืออะไร น.ท.ญ.พญ.อรวรรณ กล่าวว่า เกิดจากการที่รักษาโรคประจำตัวไม่หายขาด ใช้ยาเคมีมากๆ ก็มีผลข้างเคียง ดังนั้น การที่เราหันมาดูแลตนเอง รับประทานอาหารแทนยา ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ก็จะทำให้หายจากโรคจากการดูแลตัวเอง ไม่ใช่หายเพราะใช้ยาปริมาณมากๆ
ด้าน นางวลัยลักษณ์ ตังตติยภัทร์ อสส.ศูนย์บริการสาธารณสุข 36 บุคคโล และ นางอรทัย ภัทรวิเวทกิจ ผู้รับบริการศูนย์อนามัยสาธารณสุข 55 เตชะสัมพันณ์ กล่าวว่า ตนอาศัยอยู่แถวฝั่งธนบุรี ซึ่งได้รับข้อมูลการจัดงานมหกรรม 80 ปีกรมการแพทย์จากเพื่อนๆ ว่ามีการจัดงานที่เซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากเพื่อนเคยมาร่วมงานของกรมการแพทย์แล้วติดใจ เพราะจัดงานดี เพื่อนเลยชวนกันนั่งรถประจำทางมา เพราะไม่อยากลำบากลูกหลาน ก็ค่อยๆ ศึกษาเส้นทางมาเองได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้เราเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การที่ตนมีสุขภาพที่ดี เพราะการทำกิจกรรมบ่อยๆ ดูแลเรื่องอาหารเน้นรับประทานผักมากขึ้น ลดอาหารหวานมันเค็ม เลือกทานข้าวไม่ขัดสี ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ งดแอลกอฮอล์และสารให้ความหวาน
“วันนี้อยากมาดูเทคโนโลยีสุขภาพใหม่ๆ ของกรมการแพทย์ ซึ่งบูธที่ตั้งใจจะมาเป็นการตรวจขนาดเส้นเลือดแดงในแขนและขา ว่ามีความสมบูรณ์อย่างไร เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต เพราะเรื่องนี้สำคัญมากกับผู้สูงอายุ” นางอรทัย กล่าว
เมื่อถามว่าขณะนี้กรมการแพทย์มีนโยบายการเอาแพทย์ไปหาผู้ป่วยที่บ้านมีความสำคัญอย่างไรกับผู้สูงอายุ นางวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ช่วยได้เยอะมาก เนื่องจากผู้สูงอายุบางคนอยู่คนเดียว เมื่ออายุมากขึ้นแล้วเราก็ห่างเหินจากลูกหลาน เวลาจะไปหาหมอก็ไปเองไม่ได้ ดังนั้น ถ้านโยบายฯ สำเร็จก็จะดีมากๆ เพื่อให้สะดวกกับผู้สูงอายุ
สำหรับการประชุมวิชาการ กรมการแพทย์ จัดระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม ภายใต้แนวคิด “ทำดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต : Do our best for all” เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นำไปพัฒนาการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ศึกษาวิจัยต่อยอดผลงาน นวัตกรรม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
โดยมีการนำเสนอผลงานประวัติศาสตร์และแนวทางในอนาคตของกรมการแพทย์ (DMS Next Normal) จัดบริการด้านสุขภาพจาก 14 หน่วยงานของกรมการแพทย์ให้กับประชาชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกิจกรรมเสวนาสุขภาพจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและศิลปินดารา สัมมนาเชิงลึกด้านการแพทย์แขนงต่างๆ และสินค้าสุขภาพ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมงานได้ ที่ บางกอก คอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพมหานคร