วันนี้ (28 มิ.ย.64) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัปเดตการเฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ว่าในรอบสัปดาห์พบเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น 459 คน รวมเป็น 1,120 คน สายพันธุ์เบตา พบเพิ่ม 89 คน สะสม 127 คน แต่จากการเฝ้าติดตามเชื้อกลายพันธุ์ตั้งแต่เดือน เม.ย.64 – วันที่ 27 มิ.ย. 64 แม้การระบาดส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แต่พบสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาเริ่มปรับสูงขึ้น จาก 9.76% เป็น 10.43% ล่าสุดเป็น 16-17%
“เมื่อเจาะลงไปตามพื้นที่ กทม. พบว่าสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นเป็น 25-26% ขณะที่ส่วนภูมิภาค เพิ่มจาก 2.5% เป็น 5% ถือเป็นการเข้ามาแชร์สัดส่วนการตลาดมากขึ้น จากอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ กทม.ที่เพิ่มขึ้น 1 ใน 3จึงคาดการณ์ได้ว่าภายใน 2-3 เดือนจากนี้ ใน กทม.สายพันธุ์เดลตาจะเข้ามาระบาดแทนที่สายพันธุ์อัลฟา ขณะที่สายพันธุ์เบตาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.นราธิวาส” นพ.ศุภกิจระบุ
สำหรับสายพันธุ์เดลตา 1,120 คน กระจายใน 35 จังหวัด เมื่อจำแนกเป็นรายจังหวัดในรอบสัปดาห์ พบการติดเชื้อเพิ่ม 459 คน ใน 20 จังหวัด ดังนี้ 1. กทม.พบเชื้อเพิ่ม 331 คน สะสม 822 คน 2. นราธิวาส 2 คน 3. หนองบัวลำภู 12 คน 4. หนองคาย 2 คน 5. เลย 20 คน 6. บึงกาฬ 4 คน 7. นครพนม 3 คน 8. สกลนคร 22 คน สะสม 29 คน 9. อุดรธานี 23 คน สะสม 46 คน 10. กาฬสินธุ์ 6 คน
11. มหาสารคาม 1 คน 12. ร้อยเอ็ด 3 คน สะสม 4 คน 13. ขอนแก่น 3 คน สะสม 6 คน 14. ชลบุรี 1 คน 15. อยุธยา 7 คน 16. นครสวรรค์ 11คน 17. อุทัยธานี 2 คน 18. อุตรดิตถ์ 4 คน 19. เพชรบูรณ์ 1 คน และ 20.พะเยา 1 คน
อธิบดีกรมวิทย์ฯ ระบุด้วยว่า การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากผู้เเดินทางกลับบ้านจากแคมป์คนงาน ส่วนใหญ่ไปจากแคมป์หลักสี่ อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เดลตาเดิมไม่มีในภาคใต้ ล่าสุดพบใน จ.นราธิวาส 2 คน เป็นคนที่ข้ามมาจากรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ต่อสายพันธุ์อัลฟา หลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม มากกว่า 14 วัน โดยตรวจสอบจากผู้ติดเชื้อจริงไม่ใช่การทดสอบในหลอดทดลอง โดย ภูเก็ต ติดเชื้อ 124 คน ป้องกันได้ 90.07 % สมุทรสาคร ติดเชื้อ 116 คน ป้องกันได้ 90.5% เชียงราย กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 42 คน ป้องกันได้ 82.8% ภาพรวมทั่วประเทศ 276 คน ป้องกันได้ 70.9% สำหรับสายพันธุ์เดลตาและเบตา ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังมีน้อย จึงไม่เพียงพอที่จะสรุปตามหลักการวิทยาศาสตร์
“ขณะนี้สายพันธุ์เบตา กทม.พบเพียง 1 คน หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย จึงต้องใส่ทุกคน ไม่ถึงขนาดสวม 2-3 ชั้น แค่ ขอให้ระมัดระวังให้มากโดยเฉพาะขณะเปิดหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รวมทั้งให้เคร่งครัดการเว้นระยะห่าง และเมื่อได้คิววัคซีนไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด ขอให้ไปฉีดเร็วที่สุด” นพ.ศุภกิจระบุ