วันที่ 31 ต.ค. 64 เวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวม 17 จังหวัด โดยอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 24-31 ต.ค. 64 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก 8 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช ยะลา) ยังคงมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน และสุราษฎร์ธานี รวม 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน 5 ครัวเรือน ส่วนสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำจากอ่างเก็บขนาดใหญ่ลงสู่ลำน้ำสายหลัก ตั้งแต่วันที่ 20-29 ต.ค. 64 ยังคงมีน้ำท่วมทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และลพบุรี รวม 13 อำเภอ 44 ตำบล 193 หมู่บ้าน 5,881 ครัวเรือน ขณะที่ผลกระทบจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่างและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17 -19 ต.ค. 64 ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และนครปฐม รวม 22 อำเภอ 108 ตำบล 704 หมู่บ้าน 11,903 ครัวเรือน ด้านผลกระทบจากอิทธิพลพายุ “เตี้ยนหมู่” ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 25 อำเภอ 234 ตำบล 1,177 หมู่บ้าน 75,749 ครัวเรือน ในภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่แล้ว ระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อน ประกอบกับมี ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 24 -31 ต.ค. 64 ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช และยะลา รวม 12 อำเภอ 16 ตำบล 22 หมู่บ้าน 189 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 2 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน และสุราษฎร์ธานี รวม 3 อำเภอ 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน 5 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง
ส่วนสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำจากอ่างเก็บขนาดใหญ่ลงสู่ลำน้ำสายหลัก ตั้งแต่วันที่ 20-29 ต.ค. 64 ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี และลพบุรี รวม 20 อำเภอ 92 ตำบล 451 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผกระทบ 11,549 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมทั้ง 5 จังหวัด รวม 13 อำเภอ 44 ตำบล 193 หมู่บ้าน 5,881 ครัวเรือน
ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่างและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 17-19 ต.ค. 64 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี รวม 52 อำเภอ 205 ตำบล 1,029 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,513 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ และนครปฐม รวม 22 อำเภอ 108 ตำบล 704 หมู่บ้าน 11,903 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลง
สำหรับผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” เมื่อวันที่ 23 ก.ย.-7 ต.ค. 2564 ซึ่งทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม รวม 228 อำเภอ 1,216 ตำบล 8,332 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 341,710 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 20 ราย (ลพบุรี 11 ราย เพชรบูรณ์ 2 ราย ชัยนาท 1 ราย นครสวรรค์ 3 ราย สิงห์บุรี 3 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี รวม 25 อำเภอ 234 ตำบล 1,177 หมู่บ้าน 75,749 ครัวเรือน ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายในหลายพื้นที่แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระดมสรรพกำลังในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ และดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784”