วันพุธ ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
นายกฯย้ำเปิด-ปิดผับยึดกม.เดิม
รอ‘ศบค.’เคาะ
ถอดแมสก์แล้วแต่ความสมัครใจ
ย้ำยึดมาตรการสธ.คุมเข้มต่อไป
กทม.สั่งทุกฝ่ายจัดเตรียมข้อมูล
เล็งประกาศโควิดโรคประจำถิ่น
นายกฯให้รอผลประชุม ศบค.ครั้งต่อไป เคาะเปิดผับบาร์เกินเที่ยงคืน ชี้ต้องดูกฎหมายเก่าด้วยว่าให้เปิดถึงกี่โมง ย้ำไม่ควรเกินนั้น ส่วนเรื่องถอดแมสก์แล้วแต่สมัครใจ มั่นใจมีคนอีกจำนวนหนึ่งยังไม่อยากถอด ด้านศบค.รายงานยอดติดโควิดไทยทรงตัว 2,224 ราย ตาย 20 ศพส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.รายงานสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 535,912,801 ราย รักษาหายแล้ว 506,897,188 ราย และเสียชีวิตรวม 6,321,475 ราย ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ส่วน ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก
สำหรับประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,224 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,224 ราย ไม่มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ และจากเรือนจำและที่ต้องขัง เป็นผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,471,179 ราย หายป่วย 4,824 ราย โดยผู้หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,414,072 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตมี 20 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,218 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 26,889 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล 13,242 ราย และโรงพยาบาลสนามอื่นๆ 13,647 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 725 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 359 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 20 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร 1 ราย นนทบุรี 1 ราย นครราชสีมา 3 ราย อุบลราชธานี 3 ราย ยโสธร 3 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย เลย 1 ราย หนองบัวลำภู 1 ราย น่าน 1 ราย สุโขทัย 1 ราย ลำพูน 1ราย นครศรีธรรมราช 1 ราย ยะลา 1 ราย สระบุรี 1 ราย จำแนกเป็น เพศชาย 9 ราย และหญิง 11 ราย แบ่งเป็น อายุ 60 ปีขึ้นไป 17 ราย ต่ำกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 3 ราย และไม่มีผู้มีประวัติโรคเรื้อรัง
ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ได้รับวัคซีนรวม 35,122 ราย สะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 138,209,571 โดส แบ่งเป็น เข็มที่หนึ่งเพิ่มขึ้น 2,764 ราย สะสม 56,799,885 ราย คิดเป็น 81.7% ของจำนวนประชากร เข็มที่สองเพิ่มขึ้น 6,135 ราย สะสม 52,803,193 ราย คิดเป็น 75.9% ของจำนวนประชากร เข็มที่สามเพิ่มขึ้น 26,223 ราย สะสม 28,606,493 ราย คิดเป็น 41.1% ของจำนวนประชากร
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีผ่อนคลายมาตรการให้ถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้มอบนโยบายให้ปรึกษาหารือและเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ไว้แล้ว หากสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะดำเนินการตามลำดับขั้นตอนต่อไป ที่สำคัญคือเพื่อให้ประชาชนประกอบอาชีพได้อย่างปกติและทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ การออกมาตรการต้องวิเคราะห์และประเมินผลจากศบค. ก่อน ไม่สามารถประกาศโดยพลการได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าการจะออกมาตรการต่าง ๆ ต้องรอบคอบ รัดกุม ดำเนินอย่างเป็นขั้นตอน สอดคล้องกับการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกคนยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ตามปกติ ในส่วนมาตรการผ่อนคลายอื่นๆให้ติดตามข่าวสารจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและไม่เกิดความสับสน
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงกรณีมีข้อเสนอขอขยายการเปิดสถานบริการถึงเวลา 02.00 น.ว่า มีการพิจารณาเป็นระยะ ตนให้แนวทางไปแล้วในศบค. อยู่ในขั้นตอนพิจารณา ซึ่งจะมีข้อยุติในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ การที่จะขยายเวลาไปมากกว่ากฎหมายเวลาเดิม ก็ต้องย้อนไปดูกฎหมายเดิมว่าให้สถานบริการแต่ละสถานบริการก่อนหน้าโควิดให้เปิดไปจนถึงเวลาเท่าไหร่ บางกฎหมายเที่ยงคืน บ้างก็ตี 1 บ้างก็ตี 2 ก็จะไปดูว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกฎหมายเก่ายังมีผลบังคับใช้อยู่ ถ้าจะแก้ตรงนั้นก็ใหญ่โตไปตรงนั้น ก็ขอให้เข้าใจด้วยแล้วกัน
ส่วนเรื่องการถอดหน้ากากอนามัยเป็นอีกเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่ ตนคิดว่าหลายคนคงยังไม่อยากถอด หลายคนก็อยากถอด บางอย่างเป็นเรื่องความสมัครใจ ไม่ใช่ประกาศให้ถอดแล้วทุกคนต้องถอดหมด เพราะหลายคนยังไม่ไว้ใจ เขาก็ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย
วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค.กทม. โดยระบุว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิดขณะนี้ดีขึ้น และพบว่ากิจกรรมซึ่งจัดขึ้นหลายกิจกรรม อาทิ งานดนตรีในสวน มีประชาชนสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก สาเหตุเพราะประชาชนต้องการใช้ชีวิตรูปแบบปกติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลการเตรียมพร้อม ศักยภาพรองรับผู้ป่วยของกรุงเทพมหานคร ทั้งผู้ป่วยโควิดและโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ก่อนนำเข้าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.)สัปดาห์นี้ โดยจะเสนอมาตรการที่ทำให้คนกรุงเทพฯมีชีวิตที่สะดวก ภายใต้มาตรการความปลอดภัยและปลอดโรค
จากนั้น นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัด กทม. เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์ระบาดโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อสั่งการรัฐบาล และข้อเสนอดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกำชับให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเตรียมมาตรการเพื่อเข้าสู่แนวทางเป็นโรคประจำถิ่นของกรุงเทพฯ ทั้งกำหนดอัตราครองเตียงของผู้ป่วย การเสียชีวิต และรับวัคซีน เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.เห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุม ศปก.ศบค.พิจารณาต่อไป