ชาวหนองบัวลำภู รุดขอบคุณ “อนุทิน” หลังเหตุการณ์ความรุนแรงกระทบจิตใจผ่านมา 100 วัน กรมสุขภาพจิต ทำงานหนักต่อเนื่อง ช่วยพลิกฟื้นชุมชมนากลางเดินหน้าสู่ความเข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขรับมอบช่อดอกไม้ขอบคุณและให้กำลังใจแก่ตัวแทนชุมชนอุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมชื่นชมการร่วมแรงร่วมใจที่ทำให้ความรักความอาลัยกลายเป็นพลังเข้มแข็งแห่งความผูกพันของชุมชน
นายอนุทิน กล่าวว่า สธ. มีความรู้สึกยินดีและขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความร่วมมือในการบูรณาการของทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ ให้กำลังใจสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จนถึงวันนี้ได้ผ่านพ้นเหตุการณ์ล่วงมากว่าหนึ่งร้อยวันแล้ว วันนี้สธ.จะมอบหมายให้กรมสุขภาพจิต สนับสนุนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูในการติดตามและสร้างระบบพื้นที่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เป็นที่น่าชื่นชมว่า แม้ในช่วงเวลาสูญเสียรุนแรง สมาชิกครอบครัวหรือสมาชิกของชุมชนตกอยู่ในความตระหนกตกใจหรือหวาดกลัวจนทำอะไรไม่ถูก ผู้นำของชุมชนรวมถึง นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู และ นายดนัยโชค บุญโสม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ได้แสดงบทบาทการนำที่สำคัญ ทำให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ มีความใกล้ชิดและคอยสื่อสาร บริหารจัดการและดูแลชุมชนที่อยู่ในความตระหนกจนคลายความกังวลและฟื้นคืนสู่ความสุขได้
นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า ชาวหนองบัวลำภูต้องขอขอบคุณที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำการเยียวยาการบาดเจ็บและมีการช่วยเหลือด้านสุขภาพที่รวดเร็วและยอดเยี่ยม รวมถึงการมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตได้ทำหน้าที่อันทรงคุณค่าเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้กับประชาชนจากเหตุการณ์ตลอดกว่าร้อยวันที่ผ่านมาจนสามารถผ่านห้วงเวลาที่เศร้าโศกที่กำลังแปรเปลี่ยนเป็นพลังใจ ทำให้รอยยิ้มของเด็กและชาวชุมชนกลับมาอีกครั้ง
ขณะที่ นายดนัยโชค บุญโสม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ กล่าวว่า ระยะที่ผ่านมานี้ ชุมชนยังคงมีกิจกรรมเติมสุขเพื่อสร้างรอยยิ้ม ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ท่าอุทัย ทำให้เด็กเล็กวัยก่อนอนุบาลได้รับการดูแล ประเมินพัฒนาการรอบด้านและมีกิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเป็นระยะๆ นอกจากนี้ ในส่วนของชุมชนนั้น ประชาชนได้รับความรู้ มีความเข้าใจในการดูแลกันและกัน สามารถเฝ้าระวังความเปราะบาง เช่น ปัญหาการเสพติด การเจ็บป่วยทางกายหรือจิตใจ ความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรม นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้การใส่ใจและสังเกตบาดแผลที่ยังคงซ่อนเร้นในจิตใจของผู้ประสบเหตุเพื่อการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แม้ว่าส่วนใหญ่ประชาชนจะสามารถผ่านปัญหาต่างๆไปได้ แต่บางคนอาจต้องใช้เวลาหรือยังมีอาการรุนแรงรบกวนการกลับสู่วิถีชีวิตปกติ เช่น มีภาพการสูญเสียที่เจ็บปวดเกิดขึ้นในความคิดบ่อยๆ แยกตัวจากคนใกล้ชิด ญาติหรือเพื่อนๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ต้องหวนคิดถึงเหตุการณ์การสูญเสีย มีความคิดแง่ร้ายหรือความรู้สึกโศกเศร้าที่ซ่อนอยู่ในใจยังอาจประทุรุนแรงขึ้นมากๆ และมีลักษณะขึ้นๆลงๆ ตามสิ่งเร้าภายในจิตใจและสิ่งเร้าภายนอกได้ ทั้งนี้ ในบางคนอาจแสดงอาการต่างๆ เหล่านี้ออกมาช้าๆ หลังจากเหตุการณ์สูญเสียผ่านไประยะหนึ่ง ขณะที่บางคนไม่แสดงอาการเหล่านี้เลยก็ได้ การสื่อสารเรื่องราวการสูญเสียที่มีลักษณะตอกย้ำเหตุการณ์หรือทำให้คิดวนเวียนในเรื่องเดิมๆ รวมถึงการสื่อสารที่สร้างความขัดแย้งแตกแยกเป็นข้อห้ามที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวัง อีกทั้งควรช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ที่ยังอาจเกิดการเจ็บป่วยทางจิตใจที่ยังปรากฎอาการตามมาภายหลังได้
“โดยหลักการแล้ว หลังจากผู้สูญเสียผ่านการจัดการอารมณ์ระยะแรกและการปรับตัวต่อการสูญเสียได้ต่อเนื่องแล้ว กรมสุขภาพจิตจะสนับสนุนให้ครอบครัวและชุมชนเดินหน้าสู่การมีเป้าหมายอนาคตร่วมกันในบรรยากาศที่สงบ มีความเห็นอกเห็นใจกัน และสร้างความเชื่อมั่นว่าครอบครัวและชุมชนจะสามารถไปสู่เป้าหมายที่ดีนั้นได้” พญ.อัมพร กล่าว