25 มี.ค. 2564 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโชห่วยท้องถิ่น ภายใต้กิจกรรม “พัฒนาศักยภาพร้านค้าปลีกสู่การเป็นสมาร์ทโชห่วย” ระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ย.2564 ครอบคลุมทั้ง 4 ภาคของประเทศ โดยพิจารณาจากจังหวัดที่มีร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการสมาร์ทโชห่วยกับกรมฯ ในปี 2563 เป็นจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี หนองบัวลำภู สงขลา พังงา เป็นต้น และได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้จำนวน 3,500 ราย
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ จะนำผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เรื่องบัญชี ภาษี การปรับปรุงร้านค้าให้มีความทันสมัย สวยงาม สะอาด และมีความสะดวกสบายในการเลือกหาสินค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการภายในร้าน รวมถึงสอนเทคนิคการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคละแวกร้านค้าเบื้องต้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรืออาศัยลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในการเก็บข้อมูล เพื่อให้เข้าถึงความต้องการสินค้าของลูกค้าอย่างแท้จริง ก่อนนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายภายในร้าน ทำให้ไม่ต้องสต๊อกสินค้าเกินความจำเป็น สินค้าที่ได้รับความสนใจน้อยหรือไม่ได้รับความสนใจเลยก็ไม่จำเป็นต้องนำมาจำหน่าย เป็นการลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ ทำให้ร้านค้าโชวห่วยมีสินค้าที่เข้าคอนเซป “ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้บ้าน” ช่วยให้ผู้ประกอบการโชวห่วยท้องถิ่นสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษจากผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย สินค้าชุมชน การผลักดันให้นำเทคโนโลยี POS มาใช้ และความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน รวมทั้งบริการเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ร้านค้าโชห่วย เช่น ตู้น้ำดื่ม ตู้เติมเงิน และการบริการจัดส่งสินค้า (เดลิเวอรี) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรมฯ ได้มีการนำเทคโนโลยี ระบบการเรียนออนไลน์มาเสริมเข้ากับกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ โดยได้จัดหลักสูตร e-learning “จากร้านธรรมดา มาเป็น สมาร์ทโชห่วย” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการร้านค้าปลีก บัญชี กฎหมายและภาษีที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าโชวห่วย ความยาว 3 ชั่วโมง โดยเมื่อเรียนจบหลักสูตร ผู้ประกอบการจะได้รับประกาศนียบัตรออนไลน์ และคู่มือความรู้ 3 เล่ม โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรีที่ dbdacademy.dbd.go.th
นายทศพลกล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง เราชนะ และม33เรารักกัน ทำให้มีผู้สนใจเปิดร้านค้าโชวห่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก และกระตุ้นให้มูลค่าการตลาดของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาทในปี 2563 และคาดว่าในปี 2564 จะมีมูลค่าที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับร้านโชวห่วยท้องถิ่น ที่จะเร่งพัฒนาร้านค้าและนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกระตุ้นยอดขาย ลดต้นทุน โดยมั่นใจว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับพื้นฐาน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่งค้าปลีกโชห่วยขนาดกลาง จำนวน 18,735 ร้านค้า และ โชห่วยขนาดเล็กประมาณ 400,000 ร้านค้า