วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2024

ครบหนึ่งเดือนเหตุกราดยิงเด็กหนองบัวลำภู รัฐทำอะไรแล้วบ้าง – BBC News ไทย

  • เอกรินทร์ บำรุงภักดิ์
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ดอกไม้วางหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอุทัยสวรรค์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนนับตั้งแต่อดีตตำรวจก่อเหตุกราดยิงและแทงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู และบริเวณใกล้เคียง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 36 คน เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นข่าวเศร้าในประเทศไทย แต่ยังเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญชาวโลก

ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และหลังเกิดเหตุผู้คนต่างก็พากันพูดถึงสาเหตุ และวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก ไม่ต่างอะไรกับตอนที่จ่าสิบเอกก่อเหตุจับตัวประกันและกราดยิงที่ จ.นครราชสีมาในปี 2563 บีบีซีไทย รวบรวมมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศว่าจะทำ เหตุการณ์น่าเศร้านี้

สรุปเหตุการณ์

วันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีพ.ศ. 2519 กลายเป็นวันที่เกิดเหตุสังหารหมู่ขึ้นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กไร้เดียงสาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู

ผู้ที่พรากชีวิตเด็กน้อยเหล่านี้คือ ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ เคยรับราชการอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรนาวัง จ.หนองบัวลำภู ก่อนถูกไล่ออกจากราชการจากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

คำบรรยายวิดีโอ,

การเดินทางครั้งสุดท้ายของสาวน้อยวัย 4 ขวบ

เหตุเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 12.30 น. ผู้ก่อเหตุพร้อมอาวุธปืนยาว ปืนลูกซอง ปืนสั้นขนาด 9 มม. และมีด บุกไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ จากนั้นได้ใช้ปืนยิงและใช้มีดฟันเด็ก ๆ ขณะกำลังนอนหลับอยู่ โดยมีเด็กวัย 3 ขวบที่นอนอยู่สุดมุมห้องรอดชีวิตมาได้เพียงรายเดียว

นอกจากเด็กเล็ก 24 คนที่เสียชีวิตแล้ว ก่อนก่อเหตุเขายังได้ยิงพ่อลูกคู่หนึ่งเสียชีวิต และได้ยิงอาจารย์ที่พยายามปิดประตูไม่ให้ผู้ก่อเหตุเข้าไปในห้องที่เด็กกำลังนอนพักผ่อนช่วงบ่ายอยู่ หลังทำร้ายเด็ก เขาได้ขับรถออกมา ระหว่างทางได้ไล่ชนคน ผู้คนที่ล้มลงถูกปืนยิงซ้ำ เมื่อกลับไปถึงบ้าน เขาได้เผารถของตัวเอง จากนั้นจึงเข้าไปในบ้านยิงลูกเลี้ยงและภรรยาจนเสียชีวิต ก่อนยิงตัวตาย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 37 คนรวมผู้ก่อเหตุ และบาดเจ็บอย่างน้อย 10 คน

สาเหตุและแรงจูงใจ

จากการที่อดีตตำรวจผู้ก่อเหตุเคยมีประวัติพัวพันเกี่ยวกับยาเสพติดจนทำให้ต้องถูกไล่ออกจากราชการ ทำให้มีการพุ่งเป้าสาเหตุที่ทำให้เกิดการคุ้มคลั่งไปที่การเสพยาเสพติด แต่ผลการชันสูตรศพไม่พบสารเสพติดในร่างกายของเขา ขณะที่พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงการสอบสวนเบื้องต้นว่า ช่วงเช้าตรู่ของวันก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุทะเลาะกับภรรยา ภรรยาจึงขอให้มารดามารับ จึงสันนิษฐานได้ว่า ผู้ก่อเหตุอาจคิดว่า ภรรยาจะไม่อยู่ด้วยแล้ว จึงเกิดเป็นความเครียดสะสม ประกอบกับขาดรายได้จากการตกงาน แต่ไม่พบหลักฐานว่า มีอาการทางจิต

ส่วนอาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุซื้อมาถูกต้อง คาดว่า ผ่านโครงการสวัสดิการตำรวจ ซึ่งแม้จะถูกไล่ออกจากราชการ แต่ถือว่ามีใบอนุญาตใช้เป็นของส่วนตัวได้

ที่มาของภาพ, NARATHON NETRAKOOL / BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

คนร้ายได้สังหารผู้บริสุทธิ์ไป 36 คน

สาเหตุและแรงจูงใจที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่อาจมีใครทราบได้ เพราะตัวผู้ก่อเหตุเองก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่รัฐบาลก็ได้พยายามออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก

มาตรการเร่งด่วน 4 เรื่อง

เมื่อ 12 ต.ค. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมเตรียมการเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ที่ทำเนียบรัฐบาล

ในส่วนมาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืนได้ข้อสรุปว่า จะกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา โดยจะมีเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม

ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่า ไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน นอกจากนี้ในส่วนความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่า ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ,

พิธีฌาปนกิจเหยื่อกราดยิง

ทางการยังรับปากด้วยว่า จะกวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง และทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย

เว็บไซต์ Small Firearms Survey ระบุถึงสถิติในปี 2017 ว่า ประชาชนในไทยครอบครองปืน 10.3 ล้านกระบอก สูงสุดเป็นอันดับที่ 13 ในโลก ในจำนวนนี้กว่า 4.1 ล้านกระบอกเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีการจดทะเบียน โดยประชากรทุก ๆ 100 คน มีอาวุธปืน 15.14 คน

การเข้าถึงปืนโดยง่ายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันในหลายประเทศว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนก่อเหตุรุนแรงขึ้นได้ง่าย รวมถึงในสหรัฐฯ ที่เคยเกิดเหตุกราดยิงมาแล้วหลายครั้ง

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจะมีการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมีโซเดียมไซยาไนด์ที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด พร้อมทั้งเร่งติดตาม สืบสวนขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน

ทางการจะทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครอง เพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู และนำข้อมูลผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ,

ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ ผู้ก่อเหตุกราดยิง เคยรับราชการอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรนาวัง จ.หนองบัวลำภู ก่อนถูกไล่ออกจากราชการจากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ส่วนมาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทางการจะมีการค้นหาคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง เพื่อเข้ารับการฟื้นฟู จะเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบลและตั้งสถานบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานสากล โดยจะมีการนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ อีเอ็ม มาใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงจำนวนมากมักจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม อาจจะช่วยเลี่ยงเหตุน่าเศร้าได้ โดยในส่วนนี้ทางการมีมาตรการที่จะพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ด้วยการจัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง

หากพบว่า ผู้ใดมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะนำไปเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทันที โดยจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จัดตั้งหน่วยบูรณาการจิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ และจัดตั้งระบบดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง

แอ็กทิฟ ชูตเตอร์ (Active Shooter) คืออะไร

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยร่วมกับข้าราชการกองบิน 6 จัดอบรมการฝึกเอาชีวิตรอดและการบริหารเหตุการณ์วิกฤต กรณี “มือปืนกราดยิง” ภาคประชาชน และได้มีการพูดถึงคำนี้ไว้ว่า “มาจากคนที่ดูภายนอกเหมือนคนปกติทั่ว ๆ ไปรอบ ๆ ตัวเรา แต่ได้รับการบ่มเพาะความคับแค้นในชีวิต”

เว็บไซต์มหาวิทยาลัยไมอามีในสหรัฐฯ ระบุว่า แอ็กทิฟ ชูตเตอร์ คือบุคคลที่ก่อเหตุสังหารหรือพยายามสังหารผู้คนในสถานที่ที่มีขอบเขตจำกัดและมีคนอยู่จำนวนมากด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่จำกัดเฉพาะอาวุธปืนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่มักจะใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ แต่ก็อาจจะมีการใช้อาวุธมีคม ใช้ยานพาหนะ และเครื่องมืออื่นใดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นในการทำร้ายร่างกายผู้คนอย่างรุนแรง ในกรณีส่วนใหญ่ ไม่มีรูปแบบหรือวิธีการในการเลือกเหยื่อ โดยการก่อเหตุมักจะไม่สามารถคาดเดาได้ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และจบลงภายในเวลาไม่กี่นาที

ในการอบรมดังกล่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า แอ็กทิฟ ชูตเตอร์ ใช้ความรุนแรงเพราะความเครียด กดดัน อารมณ์ร้าย ซึมเศร้า ทนไม่ไหว และหาทางออกไม่ได้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ควบคุมตัวเองและสติไม่ได้อีกต่อไป โดยอาจจะมีรากเหง้ามาจากปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเงิน ปัญหาสังคม และปัญหาครอบครัว

การที่จะจัดการกับแอ็กทิฟชูตเตอร์ทำได้ยาก เพราะ…

1.ไม่จำเป็นต้องเป็นโจร หรืออาชญากรมาก่อน

2.ไม่จำเป็นต้องมีอาวุธมาก่อน เพราะขณะนั้น จิตใจเขาคืออาวุธไปแล้ว เหลือแค่หาวิธีก่อเหตุ และอุปกรณ์ในการทำร้ายผู้คน

3.แรงจูงใจแทบระบุไม่ได้ ทำตามสติอารมณ์ที่หลุดจากการควบคุม

4.ไม่สามารถต่อรองได้ เพราะไม่เรียกร้องอะไรอีกแล้ว

5.ไม่ตอบสนองต่อการเกลี้ยกล่อมจากคนใกล้ชิด

วิ่ง ซ่อน สู้

แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันว่า จะไม่เกิดเหตุกราดยิงลักษณะนี้ขึ้นอีก ดังนั้นหากโชคร้ายตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายเช่นนี้ สิ่งที่ควรทำคือ “วิ่งหนี หลบซ่อน และต่อสู้เมื่อจวนตัว” นี่คือคำแนะนำที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติบอกกับประชาชนเพื่อเอาชีวิตรอด โดย ผศ. ดร. ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล ระบุว่า เป็นหลักการที่ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ของสหรัฐฯ แนะนำมา

คำบรรยายวิดีโอ,

เหตุกราดยิงบัวลำภู: โศกนาฎกรรม 6 ตุลา อ. นากลาง บาดแผลที่ยากจะลืมของผู้สูญเสีย

“เวลาเกิดเหตุกราดยิง อันแรกก็คือจะต้องวิ่งหนีก่อน ถ้าวิ่งหนีไม่ได้ก็ต้องพยายามซ่อนตัว อันสุดท้ายกรณีที่มันจวนตัว ต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตัว” นักอาชญาวิทยากล่าวในคลิปวิดีโอของช่องมหิดลที่เผยแพร่ทางยูทิวบ์

วิธีการที่ดีที่สุดในการเอาตัวรอดคือการวิ่งหนี โดยผู้ที่ตกอยู่ในเหตุอันตรายนี้ ควรหนีออกมาจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ดังนั้นการสังเกตและจดจำทางเข้าออกให้แม่นยำจึงมีความสำคัญ และควรจะมองหาทางออกสำรองไว้ด้วย เพราะอาจจะมีคนหนีไปทางเข้าออกหลักจำนวนมาก อย่าพะวงกับสิ่งของติดตัว ให้จดจ่ออยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า เมื่อออกจากจุดอันตรายได้แล้วให้รีบโทรแจ้งตำรวจทันที

“การวิ่งก็จะมีอยู่ 2 ลักษณะคือ วิ่งทางตรงกับวิ่งซิกแซ็ก” ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ กล่าว โดยแนะนำว่า หากผู้ก่อเหตุ ยิงปืนในลักษณะกราดไปมาซ้ายขวา การวิ่งซิกแซ็กจะมีโอกาสถูกลูกกระสุนมากกว่า การวิ่งทางตรงจึงมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า แต่ถ้าผู้ก่อเหตุ ไล่ยิงเป็นจุด ๆ การวิ่งซิกแซ็กจะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า

ที่มาของภาพ, NAPAT WESSHASARTAR/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

พวงพัน ปัดโคทานัง จุดธูปเคารพศพหลานรัก

หากหลบหนีไม่ได้ให้หลบซ่อนตัว เพื่อทำให้คนร้ายเข้ามาถึงตัวได้ยากขึ้น โดยควรจะล็อกประตูหน้าต่างทุกบาน ปิดผ้าม่าน ปิดไฟให้มืดสนิท หาสิ่งของที่แข็งแรงมาขวางประตูไว้ ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ ส่งข้อมูลตำแหน่งที่ซ่อนตัวให้เจ้าหน้าที่และญาติสนิท แต่ไม่ควรแชร์ในโซเชียลมีเดีย หมอบต่ำและอย่ากอดกัน พิจารณาทางออกสำรองในห้องที่หลบซ่อนตัวอยู่ และอยู่ให้เงียบที่สุด คอยสังเกตเสียงที่ประตู

การต่อสู้จะใช้ก็ต่อเมื่อจวนตัวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการออกไปต่อสู้ขณะที่คนร้ายยังมาไม่ถึงตัว โดยหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้เป็นอาวุธเช่น ถังดับเพลิง ขวานดับเพลิง น้ำยาล้างห้องน้ำ โต๊ะเก้าอี้ ปากกาดินสอ ฯลฯ พยายามแย่งปืนจากคนร้าย และหากอยู่กันหลายคนก็ควรช่วยกันต่อสู้จนกว่าคนร้ายจะหยุด หรือไม่สามารถทำอันตรายคนอื่นได้แล้ว

“โจมตีอันดับแรกให้กระทำที่ดวงตา ที่คอ แล้วก็บริเวณระหว่างขา อันนี้สามารถที่จะทำให้เขาหยุดชะงัก” นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำและกล่าวเพิ่มเติมว่า จากนั้นก็อาจโจมตีซ้ำเพื่อให้คนร้ายหยุดก่อเหตุ

หนองบัวลำภู

หนองบัวลำภู

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาว เด่นสกาวถ้ำเอราวัณ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.